top of page

      วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกคือ วัดพระปรางค์ ตั้งอยู่ในเมืองเชลียงซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนจะมาเป็นศรีสัชนาลัยต่อมาในสมัยอยุธยา พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ได้ยกทัพมายึดเมืองศรีสัชนาลัย และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองเชียงชื่น” ต่อมา พ.ศ. ๒๐๑๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตีเมืองเชียงชื่นคืนได้สำเร็จและทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองสวรรคโลก” นับแต่นั้นมา

สรุปได้ว่าชื่อเมือง เชลียง เชียงชื่น และสวรรคโลกคือชื่อเรียกเมืองเดียวกัน แต่เรียกต่างกันไปตามช่วงเวลา ซึ่งชื่อเมืองเชลียงมาจากคำว่า ชล+เวียง เป็นคำสมาสระหว่างคำไทยและสันสกฤต ซึ่ง ชล แปลว่าน้ำ เวียง แปลว่าเมือง รวมความหมายก็คือเมืองน้ำ สอดคล้องต้องรับกับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมือง ซึ่งมีแม่น้ำยมไหลโอบล้อมรอบจบเกือบจะเป็นเกาะ โดยมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง  เป็นศูนย์กลางของเมือง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร  โดยจากการขุด พบว่าเริ่มมีการก่อสร้างศาสนสถานในบริเวณนี้มาอย่างน้อยตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือประมาณ ๘๐๐ปีเป็นอย่างต่ำ  ซึ่งไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และใช้งานต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา ภายในวัดประกอบด้วยอาคารหลายหลังที่สำคัญ คือ พระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์ซ้อนทับกันมาหลายยุคสมัย และถือเป็นพระมหาธาตุเจย์ดีองค์สำคัญอีกองค์หนึ่งของสุโขทัย

โดยวัดนี้เป็นวัดสำคัญในเขตเมืองเชลียงมาแต่เดิม ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมชนพระฝาง แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย เป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก เป็นชื่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้รดพระเศียร สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณ
 

      วัดพระศรีมหาธาตุ เชลียงได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้โอนมาขึ้นในปกครองคณะสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑

 

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ประกอบด้วย

พระอุโบสถ

      อยู่ถัดออกมาทางด้านหน้าพระปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นโบสถ์ขนาดห้าห้อง มีมุขยื่นอีกหนึ่งห้อง หลังคาลดสามชั้นซ้อนสองตับ ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก องค์พระประธานคือ หลวงพ่อพุทธเรืองฤทธิ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย เบื้องหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นศิลปะสุโขทัย พุทธลักษณะงดงามมาก
 

กำแพงแก้ว

      เป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีคานทับหลังกำแพง เป็นรูปหลังเจดีย์ตัด มีทางเข้าออกที่ด้านหน้าและด้านหลังเหนือซุ้มประตูมีปราสาทจำลอง มีใบหน้าของบุคคลอยู่สี่ด้าน คือใบหน้าของพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ด้านล่างเป็นรูปนางอัปสรกำลังร่ายรำ เป็นศิลปะแบบบายน ซึ่งแสดงถึงอำนาจของขอมที่แผ่ขยายเข้ามาในสมัยก่อน
 

พระวิหาร

      ก่อด้วยศิลาแลง ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  เป็นวิหารขนาดหกห้อง มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ผนังวิหารเป็นแบบผนังทึบเจาะช่องแสง พระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ขนาบด้วยพระพุทธรูปยืนขนาดเล็กทั้งขวาและซ้าย ทางด้านขวาของพระประธานคือ พระพุทธรูปปางลีลา ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามที่สุดในศิลปะสุโขทัย ทางด้านซ้ายคือ พระพุทธรูปยืนจมอยู่ในฐาน ซึ่งจากข้อสันนิษฐานกล่าวว่าพระพุทธรูปนี้ถูกสร้างในสมัยสุโขทัย และต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการถมพื้นวิหาร จึงทำให้พระพุทธรูปถูกหุ้มทับเหมือนจมอยู่ใต้ดิน

 

พระวิหารขนาดเล็ก

      ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารประธานฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหลังตอนบนทำเป็นซุ้มพระ ทรงโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก แม้ว่าจะชำรุดทรุดโทรมไปมากแล้วก็ตาม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่พบได้ทั่วๆไปในศิลปะสุโขทัยและล้านนา และทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นวิหารขนาดเล็กที่มี “กู่” หรือปราสาทสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งนิยมสร้างทั่วไปในล้านนา ซึ่งวิหารแห่งนี้อาจสร้างขึ้นในคราวที่ล้านนามาปกครองก็เป็นได้

พระเจดีย์ราย

      เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บริเวณมุมทั้งสี่ของพระปรางค์ประธาน ขนาดโดยเฉลี่ย ๕ เมตร มีอยู่ห้าองค์
 

พระปรางค์ประธาน

      ก่อด้วยศิลาแลงฉาบแล้วลงสีชาดทับลงไป แต่ปัจจุบันสีได้ลอกออกบางส่วน ซึ่งแต่เดิมเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมซึ่งเป็นศิลปะในสมัยสุโขทัย แต่หลังจากที่อยุธยาผนวกสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ ได้สร้างปรางค์แบบอยุธยาครอบทับของเดิมไว้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเขียงขั้นแรกย่อมุมไม้สิบสอง ฐานล่างสุดก่อผนังแบบทึบ เจาะช่องแสงกันอยู่ด้านในสามชั้น  เรือนธาตุทางด้านหน้าทำเป็นซุ้มโถง หน้าบันทางทิศตะวันออก(ด้านหน้าพระปรางค์) เป็นรูปยักษ์ที่เป็นทวารบาล ทางทิศตะวันตก เป็นรูปพระพุทธเจ้าปางปฐมเทศนา ทางทิศเหนือเป็นรูป บุคคลทรงเครื่องกษัตริย์   ภายในซุ้มโถงมีสถูปขนาดเล็กรูปดอกบัวตูมประดิษฐานอยู่ อาจเป็นที่บรรจุพระธาตุ ตามผนังภายในองค์ปรางค์มีร่องรอยว่าแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง  และเดิมมีเพดานไม้แกะสลักที่มีความงดงามและซับซ้อน แต่ปัจจุบันได้ถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง ส่วนบริเวณเรือนธาตุทางด้านหลัง ทำเป็นบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์เช่นเดียวกัน แต่เป็นประตูหลอก
 

ลานประทักษิณ

      รอบพระมหาธาตุมีลานประทักษิณ ๓ ชั้น เดิมมีหลังคาคลุมและมีวิหารทิศอยู่รอบเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ปัจจุบันยังคงเห็นร่องคานรับโครงสร้างหลังคาอยู่ที่ฐาน และระหว่างลานประทักษิณชั้นที่ ๒ และ ๓ มีผนังทึบกั้น คาดว่าเป็นการแบ่งพื้นที่การเดิน ของบุคคลที่มีสถานะต่างกันให้ชัดเจน

 

เจดีย์มุเตา

      อยู่ด้านหลังพระปรางค์ประธาน นอกกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปแปดเหลี่ยม  ซ้อนกันสี่ชั้น ต่อจากนั้นเป็นชั้นบัวสามชั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังหมด  ซุ้มทางด้านหน้ามีทางเข้าไปภายในแต่หักพังปิดทับหมด มี บันไดขึ้นไปสู่ซุ้ม ซึ่งจากข้อสันนิษฐานกล่าวว่า เจ้าฟ้ารั่วจากเมืองมอญ เป็นผู้สร้าง โดยตั้งชื่อว่าเจดีย์มุเตา ตามชื่อเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมอญ นอกจากนั้นยังมีตำนานกล่าวว่าเจดีย์นี้ถูกสร้างโดยพระลือ ซึ่งเกิดจากการที่พระร่วงและพระลือที่เป็นพี่น้องกัน แข่งกันสร้างเจดีย์ และปรากฏว่าพระลือสร้างเจดีย์ได้สวย และสูงกว่า จึงทำให้พระร่วงไม่พอใจ จึงเตะยอดเจดีย์ของพระลือกระเด็นไปตกทีพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบันยอดของเจดีย์นั้น คือเจดีย์ประธานของวัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก
 

มณฑปพระอัฏฐารส

      อยู่ทางด้านหลังพระธาตุมุเตา สันนิษฐานว่า เป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนทางทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกเหลือส่วนพระชงฆ์ของพระพุทธรูป ด้านหลัง (ทิศใต้) และทางด้านขวาหักพังเสียหายมาก ซึ่งพระสี่อิริยาบถนั้นหมายถึง สี่อิริยาบถของพระพุทธเจ้า คือการ เดิน นั่ง ยืน นอน เดินเปรียบเหมือนการประสูติ นั่ง เปรียบเหมือนการตรัสรู้ ยืน คือการระลึกถึงสิ่งต่างๆที่ผ่านมา และการนอน เปรียบเหมือนการปรินิพพาน พระอัฏฐารส หมายถึงพระที่มีความสูง 18 ศอก และชาวบ้านเรียก ว่า สาวอายุ15 ซึ่งมาจากเรื่องเล่าที่เล่าต่อๆกันมาว่า มีหญิงสาวอายุ15 เป็นผู้สร้างพระองค์นี้ขึ้น เพราะอยากจะรู้ว่าตนจะสร้างได้สูงขนาดไหน ปรากฎว่า สร้างได้ความสูง18ศอก จึงเป็นที่มาของพระอัฏฐารสองค์นี้

 

พระวิหารสองพี่น้อง 

      ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดเจ็ดห้อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสององค์ ด้านหลังมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้า ซึ่งชาวบ้านเปรียบพระสององค์นี้เป็นพระร่วง และ พระลือ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน โดยตำนานเล่าว่า พระร่วงนั้นเกิดจากไข่ของพญานาค และมีตานายพรานคนหนึ่งเก็บไปเลี้ยง เมื่อพระร่วงเติบโตขึ้น พระร่วงก็อยากมีน้อง ตาจึงนำไม้ทองหลางมาแกะสลักเป็นตุ๊กตาให้ พระร่วงก็นำตุ๊กตานี้ไปด้วยทุกที่ วันหนึ่งพระร่วงไปดูการยกหลักเมือง หลักจากยืนดูจนเมื่อย จึงวางตุ๊กตาลง แล้วพูดในทำนองว่าให้น้องเดินเอาเองบ้าง ปรากฏว่าตุ๊กตา กลายเป็นคนเดินได้จริงๆ นั่นก็คือพระลือ จึงทำให้พระร่วงเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นผู้ที่มี วาจาศักดิ์สิทธิ์
 

Supalai Premier @ Asoke

(ศุภาลัย พรีเมียร์ @ อโศก)  ถนนเพชรบุรี บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

imaimtour@gmail.com

  • Facebook - White Circle
  • Google+ - White Circle
  • YouTube - White Circle
bottom of page