![](https://static.wixstatic.com/media/de84be_6aeaaff4a34f482d8ea64d0edc0492bf~mv2_d_3508_4961_s_4_2.png/v1/fill/w_1358,h_1920,al_c,q_95,usm_0.66_1.00_0.01,enc_avif,quality_auto/de84be_6aeaaff4a34f482d8ea64d0edc0492bf~mv2_d_3508_4961_s_4_2.png)
![](https://static.wixstatic.com/media/de84be_6f248fd4611342a69e1f2a6f632d154c~mv2.png/v1/fill/w_351,h_263,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_avif,quality_auto/de84be_6f248fd4611342a69e1f2a6f632d154c~mv2.png)
![](https://static.wixstatic.com/media/de84be_ae2f5910180c41dfab76b75ec00c8f92~mv2_d_4500_3000_s_4_2.png/v1/crop/x_0,y_0,w_4500,h_2513/fill/w_780,h_435,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_avif,quality_auto/de84be_ae2f5910180c41dfab76b75ec00c8f92~mv2_d_4500_3000_s_4_2.png)
วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ วัดนี้มีประวัติที่ได้จากตำนานต่างๆ พอสรุปได้ความว่า วัดนี้มีความสำคัญตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว และยังคงความสำคัญเรื่อยมา ดังเช่นในบางตำนานมีการกล่าวถึงการเสด็จมานมัสการพระธาตุของพระนางจามเทวี ในราวพ.ศ.1200 เศษ แต่จากลักษณะสถาปัตยกรรมภายในวัด น่าจะเชื่อว่าวัดนี้อายุอย่างน้อยก็อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย และได้รับการบูรณะเสมอมา
ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่างๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใสได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้นบรรจุในผอบทองคำและใส่ลงในอุโมงค์ พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
บันไดนาค
บันไดนาค เป็นสถาปัตยกรรมแรกก่อนเข้าสู่พื้นที่วัด มีการก่อสร้างซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย (สันนิษฐานว่าเป็นสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 และสมัยเจ้ากาวิละ) สมัยสุดท้ายมีการก่อสร้างเพิ่มความยาวบันได และก่อสิงห์ 2 ตัวหน้าบันไดขึ้น
ลักษณะของบันไดนาค มีราวบันไดเป็นลำตัวนาค ส่วนเชิงบันไดเป็นมกรคายนาค 5 เศียร เศียรกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ลวดลายประดับบริเวณรัศมีของนาคทางด้านข้างเป็นลายกระหนกพันธุ์พฤกษา อยู่ภายในกรอบเส้นลวดสอดไส้ลายไข่ปลา ส่วนลำตัวนาคปั้นปูนเป็นรูปเกล็ดนาค เศียรกลางไม่พบร่องรอยการประดับลายปูนปั้นแผงคอเหลืออยู่ มีการประดับลายปูนปั้นทางด้านหน้าเป็นเส้นแนวนอนในลักษณะท้องนาค มกรที่บันไดนาค เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ นัยว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระธาตุ โบสถ์ วิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติแบบจักรวาลวิทยา แบบไตรภูมิ ดังนั้น จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เพื่อไม่ให้ใครขึ้นไปรบกวนสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์
บันไดนาคถือเป็นทางขึ้นสู่เขาพระสุเมรุ ในการเดินข้ามผ่านสะพานนาคซึ่งเชื่อมระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ ผ่านซุ้มประตูโขงซึ่งมีความหมายถึงป่าหิมพานต์ เพื่อเดินทางต่อไปถึงเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล
ซุ้มประตูโขง
ซุ้มประตูโขงเป็นสถาปัตยกรรมที่มีหน้าที่เป็นประตูผ่านเข้าสู่เขตพุทธาวาส ซึ่งน่าจะมีการสร้างซุ้มประตูโขงในปีพ.ศ. 2075 โดยพระธรรมจินดามุนี
ลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ซุ้มประตูโขงเป็นซุ้มทรงยอดมณฑป ก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้น ตัวอาคาร
ย่อมุม 12 มีซุ้มด้านทิศตะวันออกและตะวันตก อันเป็นช่องประตูผ่านเข้าสู่เขตพุทธาวาส และซุ้มจระนำทิศเหนือและใต้ เสารับซุ้มและซุ้มจระเข้มีลักษณะยกเก็จ 2 ช่วง สามารถแบ่งองค์ประกอบซุ้มประตูโขงเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนตัวอาคาร และส่วนยอด
ตัวอาคาร มีลักษณะจากพื้นถึงหน้ากระดานบน ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกัน 3 ชั้น บัวคว่ำขนาดใหญ่ ลูกแก้วอกไก่ ชั้นบัวหงายขนาดเล็ก ตัวอาคารย่อมุม ชั้นบัวคว่ำขนาดเล็ก ลูกแก้วอกไก่ ชั้นบัวหงายซ้อนกัน 2 ชั้น ลวดลายที่ใช้ประดับตัวอาคารย่อมุมมี 3 ส่วน คือ บัวคอเสื้อประจำยามอก และบัวเชิงล่าง เป็นลายพันธุ์พฤกษาอยู่ในกรอบเส้นลวดหยักโค้ง อันเป็นลวดลายตกแต่งพื้นฐานของสถาปัตยกรรมล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากลวดลายบนเครื่องลายครามจีนแบบราชวงศ์หงวนและราชวงศ์หมิง
วิหารหลวง
วิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวิหารไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยที่หลงเหลืออยู่ เป็นไม้สักทั้งหลัง มีลักษณะเป็นวิหารประธานของวิหารทั้งหมด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก
วิหารหลวงเป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ลักษณะของพระวิหารหลวงเป็นวิหารโถงเครื่องไม้แบบเปิดโล่ง ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังยกพื้นสูงจากพื้นดินเล็กน้อย การลดของชั้นหลังคาพระวิหารถือเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนา เช่นวิหารวัดกู่อ้ายสี ในเวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่