top of page

      จังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ แต่มีประชากรเบาบางที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ นับเป็นจังหวัดชายแดนที่สำคัญ มีประวัติศาสตร์เก่าแก่นับแต่สมัยกรุงสุโขทัย ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่งดงามหลายแห่งด้วย นอกจากนี้ยังมีอาณาเขตติดต่อจังหวัดอื่น ๆถึง 9 จังหวัด ตากตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศ เนื่องจากแบ่งตามเกณฑ์ของกรมการปกครองและกรมอุตุนิยมวิทยา 

คำขวัญประจำจังหวัด : “ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้และป่างาม”

ตราประจำจังหวัด : รูปพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างเหนือครุฑหลั่งน้ำทักษิโณฑก

ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นแดง

ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกเสี้ยวดอกขาว

ประวัติความเป็นมา

      ตัวเมืองเดิมของจังหวัดตาก ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก ในอดีตเป็นเมืองที่ชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองชายแดนตะวันตก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการย้ายตัวเมืองตากมาอยู่ที่บ้านป่ามะม่วง ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์เพราะเป็นจุดที่พม่าเดินทัพผ่านภายหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมืองตากก็ได้กลายสภาพเป็นเมืองร้าง และต่อมาแม้บ้านเมืองจะยังมีศึกสงครามอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายให้เมืองตากมากนัก  ภายหลังจากศึกสงครามเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองตากก็เริ่มสงบสุขชาวเมืองที่หนีเข้าป่าก็เริ่มอพยพกลับเข้าเมืองตามเดิม จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงโปรดฯ ให้ย้ายตัวเมืองจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิง มาตั้งเมืองใหม่ที่ฝั่งซ้ายบริเวณบ้านระแหงมาจนถึงทุกวันนี้ เมืองตากในสมัยโบราณเป็นศูนย์กลางการค้าขาย การคมนาคมทางเรือระหว่างคนไทย และมอญ

สภาพภูมิประเทศ

      สภาพพื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วยป่าไม้และเทือกเขาสูง มีพื้นที่ราบสำหรับการเกษตรน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงเป็นทิวเขาถนนธงชัยสูงสลับซับซ้อน จังหวัดตากแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ด้านตะวันออก มีภูเขาสูง ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าโปร่ง และป่าเบญจพรรณ ด้านตะวันตก มีภูเขาสูง ปกคลุมไปด้วยป่าโปร่ง ป่าดงดิบ และป่าสน

      ภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ ภูเขาถนนธงชัย เขาหลวงและเขาพะเมิน แหล่งน้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำกลอง มีป่าสงวนแห่งชาติ 15 ป่า  แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ แร่แกรนิต สังกะสี และหินปูน   มีเทือกเขาถนนธงชัยแบ่งกลางจังหวัด ทำให้ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดแตกต่างกันไปด้วย เนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัยเป็นตัวปะทะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน ทำให้ซีกตะวันออกจะได้รับความชื้นจากลมมรสุมไม่เต็มที่

สภาพภูมิอากาศ

      แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

1.       ฤดูร้อน

2.       ฤดูฝน  โดยฝนจะตกทางด้านตะวันตกมากกว่าด้านตะวันออก เนื่องจากอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุมและดีเปรสชั่น นอกจากนี้ด้านตะวันตกมีพื้นที่ป่าไม้สูงกว่าด้วย ทำให้เก็บความชุ่มชื่นได้เป็นอย่างดี

3.       ฤดูหนาว

เทศกาลและงานประเพณี

      ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า และขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านจะใช้ใบพลับพลึงมาเย็บเป็นกระทง แล้วตักขี้ไต้ใส่เชื้อเพลิงคือน้ำมันมะพร้าว ปล่อยลงสู่ลำน้ำปิง ซึ่งเมื่อมองดูใบพลับพลึงจะให้สีขาวนวล ส่วนขี้ไต้จะสว่างไสว ดูสวยงามคล้ายไข่แดงในไข่ขาว ลอยระยิบระยับเป็นสายในท้องน้ำ แต่เมื่อใบพลับพลึงหายากขึ้น ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาใช้กะลามะพร้าวตาเดียว (กะลาที่ไม่มีรู) แทน สำหรับเหตุผลที่คนตากนิยมนำกะลามาทำกระทง ไม่ใช้ใบตองเหมือนที่อื่นก็อาจเป็นเพราะ ชาวเมืองตากนิยมกิน"เมี่ยง" เป็นประจำหลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง นอกจากนี้ยังขายเป็นสินค้าพื้นเมืองจนเป็นที่นิยมทั่วไปในภาคเหนือ โดยการทำเมี่ยงนั้นจะมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เมื่อเอาเนื้อไปทำเมี่ยง ตัวกะลาที่มีเหลือจำนวนมากถ้าทิ้งไว้เฉยๆ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ชาวตากจึงนำกะลาไปประยุกต์ทำเป็นกระทง โดยจะนำกะลามาขัดถูให้สะอาด ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม และภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษา ที่พระสงฆ์ได้จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนพรรษาเหล่านั้นมาหล่อตีนกา ซึ่งถือว่าเป็นของสิริมงคล ทั้งนี้การจุดไฟที่ด้ายซึ่งฟั่นเป็นรูปตีนกานั้นถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า แสงไฟจะสร้างความสว่างไสวให้กับชีวิตของตน และใน

      การลอยกระทงสายจะเริ่มต้นด้วยการลอย "กระทงนำ" หรือแพผ้าป่าน้ำ ซึ่งเป็นกระทงขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ด้วยดอกไม้ รูปเทียน ธงกระดาษแก้วหลากหลายสีที่ตัดเป็นลวดลายสวยงาม ใส่ผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมาก พลู ขนม ผลไม้ และเศษสตางค์ ซึ่งกระทงนำนี้ก่อนลอยต้องทำพิธีขอขมา เพื่อเป็นการบูชาพระแม่คงคา และพระพุทธเจ้า แล้วค่อยตามมาด้วย "กระทงตาม" ซึ่งทำด้วยกะลามะพร้าว โดยใช้เทียนขี้ผึ้งและฟั่นด้ายเป็นไส้เพื่อจุดให้แสงไฟ ลอยตามมาอีก 1,000 ใบ แล้วปิดท้ายด้วย "กระทงปิดท้าย" ซึ่งมีลักษณะเหมือนกระทงนำ แต่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อเป็นการบอกว่าการลอยกระทงสายนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

      งานตากสินมหาราชานุสรณ์และงานกาชาด เพื่อเป็นการแสดงวีรกรรมเทิดพระเกียรติ และเผยแพร่วีรกรรมของพระองค์ ภายในงานจะมีการแสดงแสงเสียงเทิดพระเกียรติ การบวงสรวงดวงวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การแสดงนิทรรศการ และการแสดงมหรสพต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคมของทุกปี

      ประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 งานขึ้นธาตุเดือน 9 เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ ตรงกับเดือน 9 ของภาคเหนือ หรือตรงกับเดือน 7 ของไทย  ภายในงานจะมีการจัดขบวนแห่ เช่น ขบวนกลองยาว ขบวนปัจจัยไทยทาน โดยเริ่มจากหนองเล่มผ่านสะพานบุญไปยังวัดพระบรมธาตุ เพื่อทำพิธีถวายผ้าห่มองค์พระธาตุ และทำพิธีบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถีซึ่งเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงฯ ได้สร้างไว้ในคราวทำสงครามยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระบรมธาตุ และจะทำพิธีทำบุญตักบาตรตามประเพณี ณ วัดพระบรมธาตุ

ของฝาก/ของที่ระลึก       

      เมี่ยงคำเมืองตาก หรือเมี่ยงจอมพล ส่วนประกอบของเมี่ยง คือ มะพร้าวขูด ข้าวตากแห้งทอด ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง แคบหมู มะนาว หัวหอมแดง ขิงหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พริกขี้หนูสด เต้าเจี้ยว ข้าวเกรียบชุบน้ำให้อ่อนตัว แล้วนำส่วนประกอบทั้งหมดห่อด้วยข้าวเกรียบ ใส่น้ำเต้าเจี้ยวห่อให้พอดีคำ รับประทานเป็นของว่าง ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมกันมาก

      เส่งเผ่ และฮาละหว่า เป็นขนมหวานที่มาจากประเทศพม่า  “เส่งเผ่” มีลักษณะคล้ายขนมข้าวเหนียวแดง ที่ทำจากข้าวเหนียว น้ำอ้อย กะทิ ต่างกันตรงหน้าเส่งเผ่จะราดด้วยหัวกะทิแล้วปิ้ง หรือ อบหน้าจนเกรียม รสชาติหวานมัน ส่วน “ฮาละหว่า” ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย กะทิ เมล็ดสาคูเล็ก หน้าขนมทำเช่นเดียวกับเส่งเผ่ มีรสชาติหวานมัน แม่ค้าจะทำขนมนี้บรรจุในถาดกลม และตัดขายเป็นชิ้นเล็กๆ        กะบองจ่อ เป็นอาหารทานเล่นชนิดหนึ่ง ชื่ออาหารมาจากภาษาพม่า คำว่า จ่อ หมายถึง ทอด กะบอง หมายถึง ฟักทอง โดยจะนำฟักทองมาชุบแป้งก่อนทอด ทำให้มีสีเหลืองกรอบ เคล็ดลับความกรอบอยู่ที่ส่วนผสมแป้ง เรียกว่า แปม้ง ที่มาจากพม่า ทำจากถั่วเหลืองอ่อน ปัจจุบันมิได้มีแต่ฟักทองเพียงอย่างเดียว แต่มีการนำผักชนิดอื่นมาทอดด้วย เช่น มะละกอดิบ น้ำเต้า ถั่วงอก โดยจิ้มน้ำจิ้มที่มีส่วนผสมของน้ำมะขามเปียก น้ำอ้อยเคี่ยว เกลือ ถั่วลิสงป่น และกระเทียม มีรสชาติเปรี้ยว หวาน มีจำหน่ายทั่วไปในตลาดอำเภอเมืองตาก และอำเภอแม่สอด

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

      น้ำตกทีลอซู  เป็น1ใน6 น้ำตกที่สวยที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับ 6 ของเอเชีย ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นน้ำตกเขาหินปูนขนาดใหญ่ เกิดจากลำน้ำห้วยกล้อท้อทั้งสายที่ไหลแผ่ปกคลุมพื้นที่หน้าผากว้าง ก่อนที่จะทะยานลงสู่หน้าผาสูงชันลดหลั่นเป็นชั้น ๆ สูงกว่า 300 เมตร ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่น้ำตกสวยที่สุด หากแต่นักท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องระมัดระวังในการเดินทางด้วยเช่นกัน โดยต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผางก่อนทุกครั้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้น้ำตกทีลอซู เป็นหนึ่งในเก้าตะวัน ตามโครงการมหัศจรรย์เมืองไทย 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน โดยมีจุดเด่นคือ "มหัศจรรย์รุ้งกินน้ำที่น้ำตกทีลอซู"

      ดอยหัวหมด  เป็นยอดเขาหัวโล้นที่ปกคลุมด้วยต้นหญ้าและไม้ทนแล้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองอุ้มผาง ภูเขาบริเวณนี้มีหลายดอย เป็นลักษณะยอดเขาเตี้ย ๆ ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ชาวบ้านจึงเรียกว่า ดอยหัวหมด หรือ เขาหัวโล้น ดอยหัวหมดที่เป็นจุดชมวิวมีด้วยกันหลายดอย จุดเด่นของดอยหัวหมดในช่วงฤดูฝน คือทุ่งดอกไม้สีชมพู เป็นต้นเทียนดอยที่จะออกดอกสีชมพูไปทั่วทั้งดอย ในช่วงเวลานั้นจึงเรียก ดอยหัวหมด ว่าดอยชมพู จุดเด่นของดอยหัวหมดในช่วงฤดูหนาว คือวิวทะเลหมอก ดอยหัวหมดเป็นดอยที่อยู่ในระดับต่ำ

Supalai Premier @ Asoke

(ศุภาลัย พรีเมียร์ @ อโศก)  ถนนเพชรบุรี บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

imaimtour@gmail.com

  • Facebook - White Circle
  • Google+ - White Circle
  • YouTube - White Circle
bottom of page